สารสนเทศการแพทย์ ไอทีีบวกการแพทย์ รองรับ #เทรนด์งานเปลี่ยนอนาคต ด้านสุขภาพ

UploadImage                เมื่อองค์กรต่างๆหันมาเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิตอล เจ้าหน้าที่ด้าน IT และสารสนเทศจึงกลายเป็นหัวใจสำคัญในการวางระบบ การจัดเก็บฐานข้อมูลและการดึงเอาข้อมูลมาใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ในโรงพยาบาลเองก็มีความจำเป็นนี้ก็เช่นกัน เพียงแต่ว่าปัญหาของการจัดการข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาลนั้นคือ เจ้าหน้าที่ด้านงานสารสนเทศไม่สามารถเข้าใจคำศัพท์เทคนิคและคำศัพท์เฉพาะทางการแพทย์ได้ โดยเฉพาะกับการจัดเก็บฐานข้อมูลและวางระบบเกี่ยวกับโรค หรือยาต่างๆ ตลอดจนกระบวนการส่งข้อมูลไปยังแผนกต่างๆในโรงพยาบาล ทำให้บุคลากรด้าน IT และสารสนเทศที่เข้ามาทำงานภายในโรงพยาบาลอาจต้องใช้เวลายาวนานถึง 1 ปีในการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ “สาขาสารสนเทศการแพทย์” จึงถูกออกแบบมาเพื่อกำจัดจุดอ่อนข้อนี้โดยเฉพาะก็ว่าได้
                การเรียนในสาขาสารสนเทศการแพทย์นั้นจะเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านสารสนเทศและความรู้ด้านการแพทย์ ตลอดจนการจัดการโรงพยาบาลเพื่อตอบโจทย์การทำงานด้านการจัดการข้อมูลทางการแพทย์อย่างชัดเจน โดยในส่วนเนื้อหาในการเรียนการสอนนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ
                ส่วนแรกจะเป็นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของคอมพิวเตอร์ การวางระบบ การจัดเก็บฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์และการเขียนโปรแกรม การจัดทำฐานข้อมูล การวางระบบเครือข่าย เพื่อพัฒนานักศึกษาให้สามารถเขียนแอพพลิเคชั่นให้ใช้ได้ทั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ
                อีกส่วนเป็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ในส่วนนี้จะเป็นการกำจัดจุดอ่อนที่ทำให้สาขาสารสนเทศการแพทย์แตกต่างจากสาขาเกี่ยววิทยาการคอมพิวเตอร์ทั่วไป โดยจะมีการเรียนวิชาต่างๆ เพื่อให้มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับด้านการแพทย์และการจัดการโรงพยาบาลโดยเฉพาะ เช่น การเรียนเกี่ยวกับ Physiology ที่ว่าด้วนเรื่องของกระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายของสิ่งมีชีวิต แต่จะไม่เรียนหนักและยากเท่ากับการเรียนแพทย์โดยตรง
                “เมื่อเรียนครบทั้งสองส่วนนี้แล้วต่อไปจะเป็นการเอาความรู้มาผสานกันเพื่อการทำงานในอนาคต สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หรือวางระบบคอมพิวเตอร์ที่รองรับด้านการแพทย์” อาจารย์ราชศักดิ์ สมยานนทนากุล หัวหน้าสาขาสารสนเทศการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว
UploadImage                จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าในการเรียนการสอนนั้นจะมีการเรียนวิชาเฉพาะทางอยู่ด้วย ทางสาขาจึงสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆด้วย เริ่มตั้งแต่การสร้างหลักสูตรในความร่วมมือกับสมาคมเวชสารสนเทศไทย (Thai Medical Informatics Association) และโรงพยาบาลกรุงเทพ ความร่วมมือด้านงานวิชาการและงานวิจัยกับศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ไปจนถึงการใช้อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ และคุณหมอจากธรรมศาสตร์ มหิดล และวิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข กาญจนาภิเษก เพื่อสอนในวิชาที่ตรงกับความเชี่ยวชาญ ซึ่งในอนาคตทางสาขายังมีแผนความร่วมมือเกี่ยวกับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นร่วมกับบริษัท แอปเปิล ประเทศไทยอีกด้วย
                สำหรับโอกาสในการหางานของน้องๆที่จบการศึกษาจากสาขาสารสนเทศการแพทย์นั้น จะมีงานรองรับทั้งในด้านสารสนเทศ หรือ IT โดยตรง เช่น การทำโมบายแอพพลิเคชั่น งานพัฒนาระบบ งานวางระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น และยังสามารถทำงานด้านสารสนเทศในโรพยาบาล เช่น งานวางระบบให้โรงพยาบาลหรือคลินิก ไปจนถึงการทำงานวิจัยด้านการแพทย์ เพราะงานวิจัยด้านการแพทย์เองก็ต้องการผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเช่นกัน อาจารย์ราชศักดิ์ ยังกล่าวปิดท้ายไว้อย่างน่าสนใจอีกด้วยว่า “ตำแหน่งเหล่านี้ยังคงเป็นที่ต้องการ และทุกโรงพยาบาลต้องมี”